ระวัง 6 ปัจจัยเสี่ยง ลดการเกิดโรคมะเร็งปอด

มะเร็งปอด เป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตของประชากรทั่วโลกและเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้ชายเป็นอันดับ 1 และเป็นอันดับ 3 ในผู้หญิง มะเร็งปอดจึงกลายเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง เนื่องจากมะเร็งปอดสามารถพัฒนาและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วโดยไม่แสดงอาการใด ๆ

มะเร็งปอดคืออะไร? 

มะเร็งปอดคือโรคที่เซลล์ในหลอดลมหรือถุงลมเจริญเติบโตมากผิดปกติจนเป็นก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ และสามารถแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ มะเร็งปอดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 2 ชนิด คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก และ ชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก ซึ่งกลุ่มหลังพบได้ 90% ของมะเร็ง 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดมีอะไรบ้าง? 

1.บุหรี่ ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยเกิดจาการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์หลอดลม ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ ผู้ที่สูบบุหรี่จัดมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่มากกว่า 10 เท่า ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปอย่างน้อย 2 เท่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดชนิด small cell carcinoma และ squamous cell carcinoma 

2.สารพิษ การสัมผัสแร่ใยหิน มักพบในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรค คลัช การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ เหมืองแร่ สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สูบบุหรี่ร่วมด้วย จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 90 เท่า

3.โรคปอด ผู้ที่เคยมีรอยแผลเป็นของโรคที่ปอด เช่น เคยเป็นวัณโรคปอด หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง มีโอกาสเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลทั่วไป

4.การกลายพันธุ์ของยีนในร่างกาย มีการกลายพันธุ์ของยีนบางชนิดหรือมีการสลับที่ของยีนบางชนิด ที่ทำให้เซลล์เจริญเติบโตกลายเป็นเซลล์มะเร็งปอดชนิด adenocarcinoma เช่น ยีน EGFR, ALK, KRAS, BRAF, HER2, RET, ROS, MET และยีน NTRK ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ในครอบครัว 

5.ฝุ่น PM 2.5 ปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาวิจัยเบื้องต้นพบว่า ฝุ่น PM 2.5 เมื่อสูดดมเข้าไปโดยตรงทำให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ ในทางเดินหายใจขึ้น ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ แต่อย่างไรก็ตามสมมติฐานนี้ยังต้องการการวิจัยสนับสนุนอีกมาก 

6. ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น การใช้ยาเสพติดบางประเภท เช่น โคเคน ภาวะขาดวิตามินเอ 

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะเป็นส่วนช่วยให้ห่างไกลจากการเป็นโรคมะเร็งปอดได้มากขึ้น และหากพบความผิดปกติใด ๆ ในร่างกาย ให้รีบปรึกษาแพทย์