โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุหรือวัยชรา

เมื่ออายุมากขึ้นอวัยวะต่างๆก็เริ่มเสื่อม ดวงตามักเริ่มเสื่อมตามอายุตั้งแต่วัยผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้นจะพบโรคตาได้มากตามวัย จึงควรระวังใส่ใจรักษาสุขภาพตา เพื่อชะลอความเสื่อม และป้องกันการสูญเสียดวงตาอย่างถาวรได้

โรคทางตาที่มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ มีดังนี้ 

1) สายตาสูงวัยหรือสายตายาวตามอายุ 

สายตาสูงวัย หรือสายตายาวตามอายุ (Presbyopia) ไม่ใช่โรคสายตายาว แต่แท้จริงเป็นการเสื่อมสภาพตามอายุ เพราะเลนส์แก้วตาขาดความยืดหยุ่น กล้ามเนื้อในตาที่ช่วยปรับกำลังของตาในการมองใกล้ทำงานแย่ลง  

2) ต้อกระจก (Cataract)  

ต้อกระจก (Cataract) ทำให้เลนส์แก้วตาแข็งและขุ่นขึ้น สายตาจึงมัวลง จะเร็วหรือช้า มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นฝ้าในเนื้อเลนส์ อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ สายตามัวเหมือนมีฝ้า หมอกบัง เห็นภาพซ้อน ตาสู้แสงไม่ได้ เห็นสีผิดไปจากเดิม  

3) ต้อหิน 

ต้อหิน (Glaucoma) เกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา ส่วนใหญ่มีความดันลูกตาสูง ซึ่งอาการที่สามารถสังเกตได้ คือ หากเป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน จะปวดตา ตามัวลง และเห็นรุ้งรอบดวงไฟ อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้  

4) น้ำวุ้นตาเสื่อม 

น้ำวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Floaters) เกิดจากวุ้นตาที่มีลักษณะเป็นเจลหนืดใสเสื่อมลง ทำให้มองเห็นเป็นเงาดำ จุดเล็ก ๆ เส้น ๆ วง ๆ หรือเส้นหยากไย่ลอยไปลอยมา ขยับไปมาได้ตามการกลอกตา หรือมีแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ  

5) จุดรับภาพเสื่อมตามวัย 

จุดรับภาพเสื่อมตามวัย (Age – Related Macular Degeneration : AMD) เกิดจากจุดรับภาพบริเวณกลางจอประสาทตาเสื่อม มักเป็นไปตามวัย อาการที่สังเกตได้คือ มองภาพไม่ชัด มองเห็นบิดเบี้ยว ตาพร่ามัว มีจุดดำหรือเงาตรงกลางภาพ  

6) ตาแห้ง 

ตาแห้ง (Dry Eyes)  มีอาการไม่สบายตา ระคายเคือง เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา แสบตาหรืออาจน้ำตาไหลมากได้ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การทำงานผิดปกติของต่อมไขมันที่เปลือกตาการใส่คอนแทคเลนส์ การใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์นาน ๆ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือโรคและการรับประทานยาบางชนิด  

7) ต้อเนื้อ 

ต้อเนื้อ (Pterygium) คือ ความเสื่อมสภาพของเยื่อบุตา ทำให้มีเนื้อเยื่อผิดปกติเป็นเยื่อสีแดงยื่นเข้าไปในตาดำเป็นรูปสามเหลี่ยม ค่อย ๆ ลุกลาม ถ้าเป็นมากใกล้หรือบังปิดรูม่านตา การมองเห็นจะผิดปกติ โรคนี้มีความสัมพันธ์กับแสงแดด แสงอัลตราไวโอเลต ทำให้เยื่อบุตาเสื่อมสภาพลง  

โรคตาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้เสมอเพราะความเสื่อมของตาตามวัย  การตรวจตาเป็นประจำทุกปีจะช่วยให้สามารถพบความผิดปกติของดวงตาในระยะแรกๆ ทำให้รักษาได้ทันท่วงที เป็นการป้องกันการสูญเสียการมองเห็น