รู้ไหมว่า ก้อนเมฆสามารถบอกสภาพอากาศได้

เวลาเรามองขึ้นไปบนท้องฟ้า สิ่งที่เราเห็นได้ตลอดเวลาคือเมฆหรือก้อนเมฆ ซึ่งก้อนเมฆที่เกิดขึ้นนั้นจะมีรูปร่างต่างกันไปในแต่ละวัน บางคนเห็นเป็นรูปนั้นรูปนี้แล้วแต่จะจินตนาการ แล้วรู้ไหมว่าเขามีการแบ่งประเภทของเมฆออกเป็นชั้นและมีชื่อเรียกด้วยนะ

เมฆคืออะไร 

เมฆ (Cloud) คือไอน้ำที่กลั่นตัวรวมกันเข้าเป็นกลุ่มก้อน สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในกลุ่มของผสมนี้อาจมีอนุภาคใหญ่ๆ ของน้ำแข็งปนอยู่ด้วย หรืออาจมีอนุภาคที่ไม่มีน้ำหรืออนุภาคที่เป็นของแข็งตัวอย่าง เช่น ก๊าซ ผงฝุ่น หรือควัน ฯลฯ 

การแบ่งประเภทเมฆ 

เมฆจะถูกแบ่งตามระดับความสูงของชั้นที่เกิดและมีชื่อตามลักษณของเมฆ 

1. เมฆชั้นต่ำ อยู่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 2 กิโลเมตร ได้แก่ 

  • สเตรตัส (Stratus) เมฆที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ลอยแนวนอนคล้ายหมอก แต่ไม่ติดพื้น
  • คิวมูลัส (Cumulus) มีลักษณะเป็นก้อนเดี่ยว ก่อตัวในแนวตั้ง อาจมีขนาดเล็ก หรือมียอดเมฆสูงถึงชั้นกลาง
  • สเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus) เป็นก้อนเมฆย่อยสีเทาหรือขาว ติดกันเป็นแพ มักพบในวันที่มีเมฆมาก เมฆชนิดนี้ก่อตัวขึ้นเนื่องจากในชั้นบรรยากาศมีการพาความร้อนต่ำ 

2.เมฆชั้นกลาง เกิดขึ้นที่ระดับสูง 2 – 6 กิโลเมตร เมฆชั้นกลางมีความหนาแน่นพอที่จะบดบังดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดเงา บางครั้งมองเห็นเป็นสีเทา ได้แก่ 

  • แอลโตคิวมูลัส (Altocumulus) เมฆก้อนสีเทาหรือขาว เมื่ออยู่รวมกันดูคล้ายฝูงแกะ ลอนคลื่น หรือติดกันเป็นแผ่นหนา
  • นิมโบสเตรตัส (Nimbostratus)  ลักษณะเป็นแผ่นสีเทา ตัวเมฆอยู่ชั้นกลางแต่ฐานอยู่ชั้นต่ำ ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่อง
  • แอลโตสเตรตัส (Altostratus) มีลักษณะเป็นแผ่นหนา และปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง ปกติจะมีสีเทาเพราะบดบังแสงอาทิตย์ 

3.เมฆชั้นสูง เกิดขึ้นที่ระดับความสูงมากกว่า 6 กิโลเมตร  เนื่องจากอากาศข้างบนบางมาก เมฆชั้นสูงไม่มีความหนาแน่นมากพอที่จะบดบังดวงอาทิตย์ จึงมองเห็นเป็นสีขาวเท่านั้น ได้แก่ 

  • ซีร์โรคิวมูลัส (Cirrocumulus) เป็นเมฆสีขาว จับตัวเป็นก้อน มองดูคล้ายลักษณะลอนคลื่น หรือเป็นริ้ว
  • ซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) เป็นเมฆแผ่นสีขาว ปกคลุมท้องฟ้า ทำให้เกิดดวงอาทิตย์ทรงกลด
  • ซีร์รัส (Cirrus) มีลักษณะเป็นปุยสีขาว หรือเป็นเส้นคล้ายขนนก
  • คิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ก้อนเมฆขนาดใหญ่มาก สัมพันธ์กับพายุฝน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และสภาพอากาศรุนแรง 

เมฆที่มีลักษณะต่างๆนั้นมีชื่อเรียกที่ต่างกัน คราวนี้เวลามองเมฆก็ลองสังเกตดูว่าเป็นเมฆประเภทไหน และเมฆเหล่านี้ยังช่วยบอกเราได้ว่ากำลังจะเกิดฝนพร่ำๆหรือตกหนัก จะได้เตรียมตัวได้ทัน